ชื่อย่อหุ้น : ASK
ราคาล่าสุด : 10.60 บาท
เปลี่ยนแปลง :  - -%
ปริมาณซื้อขาย (หุ้น) :      29,536
วันก่อนหน้า
10.60
ราคาเปิด
10.60
ช่วงราคาใน 52 สัปดาห์
9.60
ช่วงราคาใน 52 สัปดาห์
21.20
ปรับปรุงเมื่อ: 21 พฤศจิกายน 2567 14:14
Refresh for Real-time Quote
    การกำกับดูแลกิจการ

นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

บริษัทได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการกำกับดูแลกิจการของฝ่ายบริหาร เพื่อให้การบริหารงานของบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยที่คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายการปฏิบัติตามข้อพึงปฏิบัติที่ดี (Code of Best Practice) สำหรับการเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียน ตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 (Corporate Governance Code for Listed companies 2017) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการบริหารอันจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้

นโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ในการกำหนดวิสัยทัศน์ รวมทั้งการพิจารณาทบทวนเพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้าตามสถานการณ์พันธกิจ กลยุทธ์ แผนธุรกิจ งบประมาณ และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของบริษัท เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคณะกรรมการบริษัทมีการทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ของบริษัททุกๆ ปี ตลอดจนกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการติดตามดูแลให้มีการนำกลยุทธ์ของบริษัทไปปฏิบัติ รวมทั้งจัดให้มีระบบการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม ตลอดจนกำหนดให้มีการรายงานทางการเงินที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอภายใต้การดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้บริษัทสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายที่วางไว้และเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด นอกจากนี้บริษัทได้กำหนดให้มีแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ ประกอบไปด้วย

  • การสรรหาและการแต่งตั้งกรรมการบริษัท
  • ความเป็นอิสระของคณะกรรมการบริษัท
  • การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร
  • การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร
  • การประชุมคณะกรรมการบริษัท
  • การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท

สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก รายงานประจำปี 2566 (แบบ 56-1 One Report) https://ask-th.listedcompany.com/one_report.html หัวข้อภาพรวมของนโยบายและแนวปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการ

หมวดที่ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการของบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยมีนโยบายในการปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้น และส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นรวมถึงนักลงทุนสถาบันใช้สิทธิ โดยครอบคลุมสิทธิพื้นฐานตามกฎหมาย เช่น การมีส่วนแบ่งในกำไรของกิจการ การซื้อขายหุ้นหรือโอนหุ้น การได้รับข่าว ข้อมูลของกิจการอย่างเพียงพอ การเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดจำนวนเงินค่าสอบบัญชี และเรื่องที่มีผลกระทบต่อบริษัท เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำเสนอข้อมูลสำคัญที่ผู้ถือหุ้นควรทราบ โดยเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท คือ www.ask.co.th ในส่วนของ “นักลงทุนสัมพันธ์” เช่น การให้สิทธิผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหรือหลายคนซึ่งถือหุ้นและมีสิทธิออกเสียงนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด ในการเสนอระเบียบวาระการประชุมผู้ถือหุ้นและเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อรับการพิจารณาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท ทั้งนี้ บริษัทได้แจ้งข่าวผ่านตลาดหลักทรัพย์และนำหลักเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อเป็นการสื่อสารได้อย่างทั่วถึงและสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2566

สำหรับในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้นำหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นและเอกสารประกอบนำเสนอผ่านทางเว็บไซต์บริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาก่อนล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 (ก่อนประชุม 28 วัน โดยบริษัทได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีผู้ถือหุ้นในวันที่ 11 เมษายน 2566) รวมทั้งจัดส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น เอกสารประกอบและรายงานประจำปี 2565 ผ่านทางนายทะเบียนของบริษัท คือ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 (ก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น 21 วัน) และได้นำรายงานการประชุมเสนอผ่านทางเว็บไซต์หลังประชุมภายใน 14 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2566 นอกจากนั้น บริษัทไม่มีนโยบายลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยจะไม่แจกเอกสารที่มีข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมกะทันหันในการประชุม ไม่เพิ่มวาระการประชุมหรือเปลี่ยนข้อมูลสำคัญโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า ให้สิทธิในการซักถามคณะกรรมการในที่ประชุม และไม่จำกัดสิทธิในการเข้าประชุมของผู้ถือหุ้นที่มาสาย เป็นต้น

หมวดที่ 2 การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

บริษัทให้ความสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกราย รวมทั้งนักลงทุนสถาบัน อย่างเท่าเทียมกัน โดยบริษัทจะเปิดเผยข้อมูลที่มีสาระสำคัญ ข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา และโปร่งใสแก่ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทจะจัดส่งหนังสือเชิญประชุมพร้อมทั้งเอกสารประกอบการประชุมตามวาระต่างๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 21 วันก่อนวันประชุม รวมทั้งประกาศหนังสือนัดเชิญประชุมดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ โดยในแต่ละวาระมีความเห็นของคณะกรรมการบริษัทประกอบครบถ้วน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีเวลาเพียงพอในการพิจารณาข้อมูลก่อนเข้าร่วมประชุม และมีการจดบันทึกการประชุมอย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้บริษัทได้เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ถือหุ้นโดยให้กรรมการอิสระของบริษัทเป็นผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้น ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้

โดยปี 2566 บริษัทได้จัดการประชุมผู้ถือหุ้น 1 ครั้ง คือ การประชุมใหญ่สามัญประจำปีผู้ถือหุ้นครั้งที่ 39/2566 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 เวลา 15.00 น. ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ บางกอกคลับ ชั้น 28 อาคารสาธรซิตี้ทาวเวอร์ เลขที่ 175 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยสถานที่จัดการประชุมผู้ถือหุ้นสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก โดยการโดยสารรถประจำทาง รถไฟฟ้า BTS และรถโดยสาร BRT ในการประชุม ผู้ถือหุ้นทุกรายสามารถใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงและแสดงความคิดเห็นหรือซักถามข้อสงสัยก่อนการตัดสินใจ

ก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทได้นำข้อมูลหนังสือเชิญประชุมที่มีรายละเอียดครบถ้วนเปิดเผยในเว็บไซต์ของบริษัท ก่อนล่วงหน้า 28 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 และได้จัดส่งหนังสือเชิญประชุมที่มีรายละเอียดวาระการประชุม ความเห็นของคณะกรรมการ รายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมามีรายละเอียดครบถ้วน รายงานประจำปีพร้อมทั้งเอกสารประกอบการประชุมในรูปแบบ QR Code เอกสารที่ต้องใช้ในการมอบฉันทะ และระบุวิธีการไว้ชัดเจน โดยมอบให้บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนายทะเบียนของบริษัทเป็นผู้จัดส่งแก่ผู้ถือหุ้นล่วงหน้าก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น 21 วัน

โดยในปี 2566 บริษัทได้จัดส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบอื่นๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 และได้ประกาศลงในหนังสือพิมพ์สายกลาง ติดต่อกัน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน – 5 เมษายน 2566เพื่อบอกกล่าวผู้ถือหุ้นล่วงหน้าในเวลาที่เพียงพอสำหรับเตรียมตัวศึกษาข้อมูลก่อนมาเข้าร่วมประชุม โดยจัดส่งเอกสารดังกล่าวให้กับผู้ถือหุ้นทุกรายที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าประชุมด้วยตนเอง บริษัทได้จัดส่งหนังสือมอบฉันทะ (แบบ ข) ไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุมรวมทั้งหลักฐานการเข้าร่วมประชุม ซึ่งได้ระบุเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการเข้าประชุม โดยระบุทั้งผู้ถือหุ้นที่จะเข้าประชุมด้วยตัวเองและผู้ถือหุ้นที่ต้องการมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถจัดเตรียมเอกสารได้ครบถ้วนและถูกต้อง และจะไม่เกิดปัญหาในการเข้าร่วมประชุม รวมทั้งได้แต่งตั้ง นายประดิษฐ ศวัสตนานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตรวจสอบ / กรรมการอิสระเป็นผู้รับมอบฉันทะแทนผู้ถือหุ้นในกรณีที่ผู้ถือหุ้นประสงค์จะมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมแทน หรือสามารถเลือกมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้าประชุมแทนได้

วันประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทได้กำหนดสถานที่ วันเวลาการประชุมที่ถือได้ว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหุ้นรวมถึงนักลงทุนสถาบันอย่างเท่าเทียมกันทุกราย และให้ความมั่นใจด้านการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ถือหุ้น กำหนดจุดบริการรับลงทะเบียนอย่างเหมาะสมและเพียงพอด้วยระบบ Barcode โดยให้ผู้ถือหุ้นสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้ล่วงหน้าก่อนเวลาประชุม 2 ชั่วโมง และต่อเนื่องจนกว่าการประชุมจะแล้วเสร็จ และจัดเตรียมอากรแสตมป์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นที่มอบ / ได้รับมอบฉันทะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมการจัดให้มีของว่างเพื่อรับรองสำหรับผู้ถือหุ้นที่รอเข้าประชุมด้วย รวมทั้งมีการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่สะดวกเดินทางมายังสถานที่ประชุม

นอกจากนั้น บริษัทได้จัดเตรียมหนังสือเชิญประชุม รายงานประจำปีทั้งในแบบรูปเล่มไว้สำหรับผู้ถือหุ้นที่แสดงความประสงค์ขอรับ ณ จุดลงทะเบียน ในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้บริษัทได้จัดให้ที่ปรึกษากฎหมายอิสระเป็นผู้ทำหน้าที่แจ้งรายละเอียดขององค์ประชุม อธิบายวิธีการลงคะแนน การนับคะแนน การใช้บัตรลงคะแนน และเปิดเผยผลการนับคะแนนในแต่ละวาระ โดยที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถาม หรือแสดงความคิดเห็นอย่างเหมาะสมและเพียงพอ และในวาระเลือกกรรมการได้จัดให้มีการลงคะแนนแยกตามกรรมการแต่ละท่าน และเก็บบัตรลงคะแนนของแต่ละท่านเพื่อให้ที่ปรึกษากฎหมายได้ทำการตรวจนับอย่างโปร่งใส

สำหรับการประชุมใหญ่สามัญประจำปีผู้ถือหุ้นครั้งที่ 39/2566 นี้มีกรรมการเข้าร่วมประชุมรวมทั้งสิ้น 10 ท่าน โดยมีกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม จำนวน 8 ท่าน ได้แก่ 1. นายหยาง ซือ ถิง ประธานกรรมการ / ประธานกรรมการบริหาร 2. นายประดิษฐ ศวัสตนานนท์ ประธานกรรมการตรวจสอบ / กรรมการอิสระ 3. นายไล่ หวัง ถัง กรรมการ 4. ดร. สุปรียา ควรเดชะคุปต์ กรรมการตรวจสอบ / กรรมการอิสระ 5. นายเกษม อาคเนย์สุวรรณ กรรมการตรวจสอบ / กรรมการอิสระ 6. นายอนันต์ ศวัสตนานนท์ กรรมการตรวจสอบ / กรรมการอิสระ 7. นางปฏิมา ชวลิต กรรมการอิสระ และ 8. นายเทียนทวี สระตันติ์ กรรมการ และมีกรรมการที่เข้าร่วมประชุมผ่าน Video Conference จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ 1. นายเฉิน ลุ่ย ซิง กรรมการ และ 2. นายเจีย หง หวัง กรรมการ และมีกรรมการที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ 1. นายเชน ฟง ลอง กรรมการ และ 2. นายเลี่ยว อิง จื้อ กรรมการ

รวมทั้ง นายดนัย ลาภาวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการบริษัท / เลขานุการคณะกรรมการ นอกจากนี้ยังมีผู้สอบบัญชีของบริษัท (บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด) จำนวน 2 ท่าน และที่ปรึกษากฎหมายอิสระจากบริษัท เอ็มเอสซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลอว์ ออฟฟิศ จำกัด ซึ่งทำหน้าที่ดำเนินการประชุม จำนวน 3 ท่าน และบริษัท อินเวนท์เทคซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัดในฐานะผู้แทนในการนับคะแนนอิสระเข้าร่วมประชุมด้วย

หลังวันประชุม

บริษัทได้แจ้งมติที่ประชุมผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลังจากการประชุมสิ้นสุดในวันที่ 11 เมษายน 2566 และบริษัทได้นำส่งรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นและเผยแพร่รายงานดังกล่าวบนเว็บไซต์ของบริษัท ภายใน 14 วัน คือวันที่ 25 เมษายน 2566 และยังได้บันทึกการประชุมในลักษณะสื่อวิดีทัศน์และบันทึกการออกเสียง โดยเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัท และได้แจ้งประกาศการจ่ายเงินปันผลลงในหนังสือพิมพ์รายวันสายกลางฉบับภาษาไทย ติดต่อกัน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน – 21 เมษายน 2566

หมวดที่ 3 การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทเล็งเห็นและให้ความสำคัญในการดูแลและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งภายในและภายนอกบริษัท ตั้งแต่ ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน เจ้าหนี้ ลูกหนี้ คู่แข่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แม้ว่าลักษณะการดำเนินงานธุรกิจของบริษัทจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง หากแต่บริษัทก็มีนโยบายในการให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่นกัน เนื่องจากบริษัทตระหนักถึงการสนับสนุนของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ที่มีส่วนช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันและผลประกอบการที่ดีให้แก่บริษัทและเป็นแรงสนับสนุนอย่างดียิ่งในระยะยาว ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ “การกำกับดูแลกิจการ” ซึ่งได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของบริษัท (www.ask.co.th) ในส่วนของ “นักลงทุนสัมพันธ์” โดยมีหัวข้อดังนี้

  • จรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct)
  • นโยบายการต่อต้านทุจริต (Anti-Fraud Policy)
  • นโยบายการต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-corruption)
  • นโยบายการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น
  • นโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดและแบบฟอร์ม
  • นโยบายการพัฒนาความรู้ศักยภาพของบุคลากร
  • นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัย และสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน
  • นโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง
  • นโยบายการดำเนินการด้านภาษี
  • นโยบายสิทธิมนุษยชน
  • นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน
  • นโยบายการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
  • นโยบายด้านความยั่งยืน
  • นโยบายด้านการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
  • นโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบสารสนเทศ

นอกจากนั้นบริษัทได้มีการเปิดเผย “รายงานความรับผิดชอบต่อสังคม / รายงานความยั่งยืน ปี 2566” บนเว็บไซต์ของบริษัท (www.ask.co.th) ในส่วนของ “นักลงทุนสัมพันธ์” เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านสามารถเข้าถึงได้

ในด้านการพัฒนาบุคลากร บริษัทได้ให้ความสำคัญในการที่จะพัฒนาพนักงานในทุกระดับเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ทั้งความรู้ที่เกี่ยวข้องในงานปัจจุบัน และความรู้สำหรับการพัฒนาทักษะเพื่อสนับสนุนให้พนักงานมีโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงาน โดยจัดให้มีการอบรมทั้งที่จัดขึ้นภายในบริษัท และส่งพนักงานไปอบรมกับหน่วยงานภายนอก โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทและบริษัทย่อยได้จัดให้มีการอบรมแก่พนักงานและผู้บริหาร รวมทั้งสิ้นจำนวน 95 ครั้ง โดยเป็นการจัดอบรมภายใน 79 ครั้ง และเป็นการจัดอบรมภายนอก 16 ครั้ง

บริษัทมีการรณรงค์ในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัย และสุขอนามัยในสถานที่ทำงานพบว่าในปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีสถิติการหยุดงาน (Sick Leave) เท่ากับร้อยละ 1.78 ของจำนวนบุคลากรรวมของบริษัทและบริษัทย่อยและบริษัทไม่มีอัตราการเกิดอุบัติที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน และบริษัทได้จัดโครงการสวัสดิการตรวจสุขภาพประจำปีให้แก่บุคลากรของบริษัทและบริษัทย่อยทุกคน เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี ซึ่งโครงการดังกล่าวบริษัทจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและดำเนินการมาต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี

อนึ่ง เพื่อเป็นช่องทางในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย บริษัทจึงได้เปิดช่องทางการสื่อสารเพื่อรับข้อร้องเรียน คำแนะนำ ความคิดเห็น สำหรับติดต่อกับคณะกรรมการ ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท ในส่วนของนักลงทุนสัมพันธ์ หรือสามารถส่งไปรษณีย์หรือยื่นเรื่องโดยตรงได้ที่บริษัท โดยสำหรับในปี 2566 บริษัทไม่ได้มีการร้องเรียน และไม่มีการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดของบริษัทจากทุกช่องทาง

บริษัทมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี ยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยบริษัทได้จัดทำนโยบายการต่อต้านการทุจริต (Anti-Fraud Policy) ขึ้นมาเพื่อกำหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ และการป้องกันการทุจริต เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน

โดยบริษัทได้ผ่านการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย หรือ CAC ครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 และได้รับการรับรองต่ออายุการเป็นสมาชิกโครงการ CAC มาโดยตลอด และสำหรับในปี 2566 บริษัทเข้ารับมอบประกาศนียบัตรการรับรองการต่ออายุเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ครั้งที่ 2 โดยการรับรองดังกล่าวมีอายุ 3 ปี มีผลถึงปี 2569

หมวดที่ 4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับบริษัทอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานและผลการดำเนินงาน โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ชัดเจนซึ่งแสดงให้เห็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงของบริษัท โดยสามารถดูรายละเอียดได้จากหัวข้อโครงสร้างการถือหุ้น รวมถึงการกำกับดูแลกิจการของบริษัท ซึ่งได้เปิดเผยทั้งในรายงานประจำปี One Report และเว็บไซต์ของบริษัท (www.ask.co.th)

ในด้านของคุณภาพของรายงานทางการเงิน สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้แต่งตั้งบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด ให้เป็นผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีที่มีความเป็นอิสระ และเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยงบการเงินในปี 2566 ของบริษัท ผู้สอบบัญชีได้รับรองงบการเงินอย่างไม่มีเงื่อนไข

บริษัทได้จัดให้มีฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations Department) เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของบริษัท รวมทั้งทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท นักวิเคราะห์ และนักลงทุนทั่วไปที่สนใจ โดยสามารถติดต่อฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทได้ที่ 0-2030-0999, 0-2679-6226 และ 0-2679-6262 ต่อ 5130 หรือ 5131 และสามารถดูข้อมูลที่สำคัญของบริษัท เช่น โครงสร้างผู้ถือหุ้น โครงสร้างองค์กร นโยบายการกำกับดูแลกิจการ รายชื่อคณะกรรมการ งบการเงิน รายงานประจำปี หนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น และรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท (www.ask.co.th) โดยเลือกในหัวข้อ “นักลงทุนสัมพันธ์”

ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทมีการให้ข้อมูลต่อผู้เกี่ยวข้องในโอกาสต่างๆ ในการนำเสนอข้อมูล ดังนี้

  1. การประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) จำนวน 4 ครั้ง
  2. การพบนักลงทุนสถาบัน ที่จัดโดยบริษัทหลักทรัพย์ (Road Show) จำนวน 8 ครั้ง
  3. เข้าร่วมงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (SET Opportunity Day) 4 ครั้ง
  4. การเผยแพร่ข้อมูลผลประกอบการและฐานะทางการเงินของบริษัทไปยังหนังสือพิมพ์ (Press Releases) จำนวน 1 ครั้ง
  5. รายงานผลการดำเนินงานรายไตรมาส ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Digital Disclosure) จำนวน 4 ครั้ง

นอกจากนี้ บริษัทมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้กรรมการต้องรายงานการมีส่วนได้เสียเพื่อให้บริษัทมีข้อมูลประกอบการดำเนินการตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ซึ่งเป็นรายการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์